ท่อสำหรับใช้งานภายนอกอาคาร

ท่อพีอี คือท่อพลาสติกสีดำผลิตจากพอลิเอทิลีน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.ท่อ HDPE คือ ท่อ PE ความหนาแน่นสูง ซึ่ง HDPE ย่อมาจาก High Density Polyethylene มีความหนาแน่นไม่น้อยกว่า 0.95 กรัมต่อลบ.ซม. ใช้ในงานท่อน้ำประปา และงานท่อร้อยสายงานระบบ

2.ท่อ LDPE คือ ท่อ PE ความหนาแน่นต่ำ ซึ่ง LDPE ย่อมาจาก Low Density Polyethylene มีความหนาแน่นน้อยกว่า 0.95 กรัมต่อ ลบ.ซม. ซึ่งจะมีคุณสมบัติเรื่อง ความคงทนแข็งแรงต่ำกว่า HDPE ใช้ในงานท่อส่งน้ำในงานเกษตร

คุณสมบัติท่อ PE ประปา

1. ปราศจากสารพิษ ทนทานต่อสารเคมี แสงแดด และแรงกดแรงกระแทก

ท่อ PE มีคุณสมบัติเป็นกลางทางเคมี ทนต่อกรด-ด่าง ความปลอดภัยสำหรับการใช้ท่อส่งน้ำดื่ม และสามารถส่งของเหลวชนิดต่างๆได้ไม่ผุกร่อน ผลิตจากพลาสติกที่ได้รับการพัฒนาเพื่อนำมาใช้งานในเชิงวิศวกรรม มีสารป้องกัน UV ทนทานต่อแสงแดด ไม่เสียหายหรือแตกหักง่ายจากการกระแทก อายุการใช้งานยาวนาน

2. การไหลของน้ำในท่อดี แรงเสียดทานต่ำ

ท่อ PE มีผิวภายในท่อลักษณะเรียบมัน ไม่เป็นสนิม และไม่จับคราบหินปูน เมื่อเปรียบเทียบกับท่อชนิดอื่นๆ ในขนาดเท่ากัน การไหลของน้ำในท่อมีความเสียดทานต่ำ ของเหลวสามารถไหลผ่านท่อได้ดี

3. แรงดันท่อ PN และชั้นคุณภาพ PE

การกำหนดชั้นคุณภาพที่จะใช้งานต้องระบุความสามารถในการรับแรงดันของตัวท่อ เป็น PN และกำหนดความแข็งแรงในการรับน้ำหนักของวัสดุ เป็น PE ไว้ควบคู่กัน เช่น ท่อ HDPE PN10 PE100 เป็นต้น

ประโยชน์ของท่อ PE ประปา

1. ใช้ในงานการประปา ท่อน้ำดื่ม ท่อน้ำใช้

2. ใช้ในงานการเกษตร สวนป่า สวนเกษตร สนามกอล์ฟ

3. ใช้ในงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่

4. ใช้ในงานอุตสาหกรรมทั่วไป เคมี อาหาร

5. ใช้ในท่อร้อยสายไฟ และสายเคเบิ้ล

6. ใช้เป็นท่อน้ำทิ้ง และท่อน้ำเสีย

7. ใช้เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

การใช้งานท่อ HDPE ท่อ PE ทดแทนการใช้ท่อ PVC

ท่อ PE นิยมติดตั้งภายนอกอาคาร สำหรับไซท์งานที่ต้องการท่อที่ทนอากาศ ทนแดน ทนฝน และใช้ฝังใต้ดิน บริเวณที่เสี่ยงต่อดินทรุด และเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าท่อ PVC เนื่องจากท่อ PVC ไม่เหมาะกับงานภายนอกอาคาร เมื่อท่อ PVC โดนแดด และได้รับแรงกดใต้ดินจากดินทรุด จะทำให้ท่อเปราะ แตกง่าย

อย่างไรก็ตาม ท่อ PE แม้จะมีความคงทนมากกว่าท่อ PVC แต่ท่อ PE ก็ยังไม่เป็นที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างบ้านทั่วไป เนื่องจากราคาท่อ PE ประปา มีราคาสูงกว่าท่อ PVC ประมาณ 30% และต้องติดตั้งโดยช่างประปาเฉพาะทางที่มีอุปกรณ์การเชื่อม

การติดตั้งท่อพีอี

การต่อท่อพีอี สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การเชื่อมท่อด้วยความร้อน แบบ Butt Welding รอยเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน โดยไม่มีการรั่วไหล และการเชื่อมต่อด้วยข้อต่อ แบบสวมอัด Compression ที่สามารถต่อใช้ได้เอง สะดวกและรวดเร็ว

1. การเชื่อมท่อพีอีด้วยความร้อน

เป็นเทคนิคการให้ความร้อนแก่ท่อที่จะทำการเชื่อมพร้อมกัน 2 ด้านของชิ้นงาน จนพลาสติกหลอมมาสัมผัสกันที่บริเวณ ผิวแต่ละด้าน การได้รับความร้อนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทำให้ผิวของท่อเกิดการหลอมละลาย ทำให้ผนังของท่อหลอมเหลวและรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

การเชื่อมท่อด้วยความร้อนนี้จะมีแถบเชื่อมเกิดขึ้นทั้งด้านใน และด้านนอกของท่อเรียกว่า weld beads ซึ่งแถบเชื่อมที่อยู่ ด้านในท่อนี้อาจเป็นสิ่งสะสมของคราบตระกรันเมื่อของเหลวไหลผ่านไปนานๆ

2. การเชื่อมต่อด้วยข้อต่อชนิดพิเศษ

ข้อต่อที่ถูกออกแบบมาใช้เฉพาะกับท่อพีอี มีหลายชนิด โดยข้อต่อแบบสวมอัด Compression เป็นข้อต่อที่ได้รับความนิยม ติดตั้งเพียงสวมข้อต่อ และขันเกลียวให้แน่น โดยไม่ต้องใช้กาวหรือเทปพันเกลียว

 

 

 

Visitors: 3,329